การทำงานของ KK•Spell ในการตรวจสอบการสะกดคำและตัดคำ อาศัยฐานข้อมูลคำศัพท์ที่เรียกว่า “ปทานุกรม” มาใช้เปรียบเทียบเพื่อแบ่งคำในประโยคให้ลงตัว คำที่ไม่พบในข้อความก็จะถือว่าเป็นคำที่สงสัยว่าเป็นคำผิด คำในภาษาไทยมีบัญญัติใหม่ขึ้นทุกวัน ไม่รวมคำที่สะกดทับศัพท์ต่างประเทศที่ยังมีอีกมาก KK•Spell เอง มิได้มีคำศัพท์ครบถ้วนทุกคำอย่างที่มีใช้กันในปัจจุบัน ฉะนั้นเป็นเรื่องปกติที่จะพบคำศัพท์ใหม่ ๆ ขณะใช้งาน เป็นหน้าที่ของผู้ใช้ที่จะตัดสินว่า คำที่ถูกสงสัยว่าผิดนั้น เป็นคำที่สะกดผิดจริงหรือไม่ KK•Spell เองก็ช่วยแนะนำคำที่สะกดใกล้เคียงเพื่อให้ใช้พิจารณา ถ้าพบคำที่สะกดถูกในรายการคำที่แนะนำ ก็เพียงนำมาแก้ไขในข้อความ แต่หากพบว่าเป็นคำศัพท์ที่ไม่มี ก็สามารถบันทึกคำศัพท์เหล่านี้ได้
จุดแข็งของ KK•Spell คือการเก็บคำศัพท์ลงแฟ้มปทานุกรมเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ โดยสามารถแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ตามชนิดของคำในแต่ละไฟล์ และนำมาติดตั้งใช้งานพร้อมกันได้โดยมิทำให้การทำงานช้าลงแต่อย่างใด แต่ความแม่นยำของ KK•Spell ในการตรวจสอบหาคำผิดนั้น ขึ้นอยู่กับความถูกต้องของคำศัพท์ที่มีอยู่ในปทานุกรม และการเลือกปทานุกรมตรงกับเนื้อหามาใช้งาน ผู้ใช้เองจึงควรระมัดระวังในการบันทึกคำศัพท์ใหม่ และรู้จักเลือกใช้ปทานุกรมที่เหมาะสม
เมื่อเปิดใช้งาน KK•Spell เป็นครั้งแรก โปรแกรมจะติดตั้งปทานุกรมให้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานโดยทั่วไป หากต้องการเปิดปทานุกรมเพิ่มเติม ปิด หรือแก้ไขคำศัพท์ สามารถทำได้ด้วยการเรียกคำสั่ง “ปทานุกรม…” จากเมนู ของ KK•Spell
KK•Spell จะแสดงหน้าต่างสำหรับการติดตั้งปทานุกรม
กล่องด้านบนแสดงแฟ้ม (File) ปทานุกรมที่ได้ติดตั้ง กล่องด้านล่างแสดงคำศัพท์ที่บรรจุอยู่ภายในแฟ้มปทานุกรมที่เลือก ปทานุกรมภาษาไทยของ KK•Spell แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ปทานุกรม “คำศัพท์ภาษาไทย” และปทานุกรม “คำผิดภาษาไทย” แสดงเป็นแท็บภายในหน้าต่างเพื่อให้สามารถเปลี่ยนหน้าเพื่อเลือกติดตั้งและจัดการคำศัพท์ของปทานุกรมแต่ละชนิด ปทานุกรม “คำศัพท์ภาษาไทย” เก็บแฟ้มข้อมูลคำศัพท์ที่ใช้กัน ส่วนปทานุกรม “คำผิดภาษาไทย” เก็บแฟ้มข้อมูลของคำที่ต้องการให้เป็นคำผิด อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับปทานุกรมได้ในหัวข้อ “ปทานุกรมและคำศัพท์”
KK•Spell จะสามารถทำงานได้ โดยอย่างน้อยที่สุดจะต้องติดตั้งปทานุกรม “คำศัพท์ทั่วไป” และ “คำที่มักสะกดผิด”
แฟ้มปทานุกรมแต่ละชนิดยังแบ่งออก 2 แบบ คือ “แฟ้มหลัก” และ “แฟ้มสำหรับผู้ใช้” แฟ้มหลักเป็นแฟ้มปทานุกรมที่มาพร้อมกับ KK•Spell ผู้ใช้ไม่สามารถดูคำที่บรรจุภายในหรือทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ส่วนแฟ้มสำหรับผู้ใช้ เป็นแฟ้มที่ผู้ใช้สามารถสร้างขึ้นเองได้ คำที่บรรจุอยู่ภายในสามารถมองเห็น เปิดโอกาสให้เพิ่มคำ ลบคำ หรือแก้ไขคำที่มีอยู่ได้อย่างอิสระ
เครื่องหมายถูกที่อยู่หน้าชื่อแฟ้มปทานุกรม แสดงว่าปทานุกรมถูกใช้งานในขณะนี้ คลิกที่หน้าชื่อปทานุกรมเพื่อเอาเครื่องหมายถูกออก เป็นการปิดการทำงานของปทานุกรมชนิด “คำผิดภาษาไทย” แต่สำหรับปทานุกรม “คำศัพท์ภาษาไทย” เมื่อเอาเครื่องหมายถูกด้านหน้าออก คำศัพท์ที่บรรจุอยู่จะไม่ถูกใช้ในการตรวจการสะกดคำและตัดคำ แต่จะยังคงถูกนำมาแสดงเมื่อมีการแนะนำคำศัพท์ระหว่างทำการพิสูจน์อักษร เลือกแฟ้มปทานุกรมด้วยการคลิกที่ชื่อปทานุกรมให้แสดงแถบสี หากเป็นชนิดปทานุกรมสำหรับผู้ใช้ KK•Spell จะแสดงคำศัพท์ที่มีอยู่ภายใน ปุ่มต่าง ๆ ทางขวาของกล่องปทานุกรม เป็นคำสั่งในการจัดการแฟ้มปทานุกรม
ปุ่มป๊อป-อัพ “เก็บใน:” เลือกแฟ้มปทานุกรมที่ใช้เก็บคำศัพท์ใหม่ระหว่างอยู่ในหน้าพิสูจน์อักษร ปุ่ม “ จำ” เมื่อใส่เครื่องหมายถูกข้างหน้า จะจำแฟ้มปทานุกรมที่เลือกไว้ที่ปุ่ม “เก็บใน:” ถ้าไม่มีเครื่องหมายถูก ทุกครั้งที่เปิดแอปพลิเคชัน แฟ้มปทานุกรมเสมือนสำหรับผู้ใช้จะถูกสร้างขึ้นไว้โดยอัตโนมัติในหน่วยความจำ โดยใช้ชื่อว่า “คำศัพท์ไทย” ตามด้วยหมายเลขลำดับที่ทำให้ไม่ซ้ำกับชื่อแฟ้มที่ติดตั้งไว้ก่อนหน้า และจะถูกเลือกโดยปริยายสำหรับการเก็บคำศัพท์ใหม่
ปุ่ม “สร้างใหม่” สร้างแฟ้มปทานุกรมเสมือนสำหรับผู้ใช้ ปุ่ม “เปิด...” ใช้เปิดแฟ้มปทานุกรมที่อยู่ในดิสก์ ปุ่ม “ปิด” ใช้ปิดแฟ้มปทานุกรม แฟ้มปทานุกรมที่ถูกเลือกเก็บคำศัพท์ใหม่โดยปริยาย จะไม่สามารถปิดได้ และปุ่มนี้จะแสดงเป็นตัวจางเมื่อเลือกแฟ้มนี้ภายในกล่องปทานุกรม ปุ่ม “บรรจุ” ใช้คำสั่งนี้เพื่อโหลดแฟ้มปทานุกรมที่เลือกไว้ ในกรณีที่ KK•Spell ไม่พบแฟ้มขณะเปิดโปรแกรม อันอาจเนื่องมากจากแฟ้มอยู่ในดิสก์อื่น หรืออยู่ในเซิร์ฟเวอร์ที่ยังไม่ได้เชื่อมต่อ ปุ่ม “บันทึก” บันทึกการแก้ไขของแฟ้มปทานุกรมลงดิสก์ ปุ่ม “บันทึกใน...” บันทึกแฟ้มปทานุกรมลงดิสก์ในชื่ออื่น การคลิกเม้าส์ขวาหรือกดปุ่ม control บนแป้นพิมพ์ค้างไว้ขณะคลิกที่ชื่อแฟ้มปทานุกรม จะแสดงเมนูคำสั่งสำหรับแฟ้มปทานุกรม
กล่องด้านล่างของหน้าต่างแสดงคำศัพท์ในปทานุกรมผู้ใช้ ปุ่มต่าง ๆ ทางด้านขวา ใช้เพื่อ เพิ่ม ลบ แก้ไข และค้นหา คำศัพท์ภายในแฟ้มปทานุกรม อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการคำศัพท์ได้ในหัวข้อ “ปทานุกรมและคำศัพท์”
ด้านล่างของหน้าต่างปทานุกรม แสดงข้อมูลต่าง ๆ ของแฟ้มปทานุกรม และคำศัพท์ทั้งหมดที่ได้ติดตั้ง ปุ่ม “บรรจุใหม่” ทำหน้าที่โหลดแฟ้มปทานุกรมที่ติดตั้งไว้ทั้งหมดเข้าสู่หน่วยความจำ ในกรณีที่แฟ้มปทานุกรมถูกแบ่งปันและได้ถูกแก้ไขโดยผู้ใช้อื่น
การติดตั้งปทานุกรม ควรเลือกเปิดเฉพาะปทานุกรมที่มีคำศัพท์ตรงกับเนื้อหาที่เราทำการพิสูจน์อักษร เพราะสิ่งผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ คือการพิมพ์ผิดและใช้ผิดเป็นคำอื่นที่สะกดถูกต้อง